คลังสินค้า

เรามีคลังสินค้าขนาด 5,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ให้บริการจัดเก็บสินค้าทั่วไปให้กับลูกค้า นอกจากนี้บริษัทเรายังได้มีการใช้โปรแกรมการจัดการคลังสินค้า WMS เพื่อใช้บริหารคลังสินค้า และการกระจายสินค้าอีกด้วย

 

ประเภทคลังสินค้า

คลังหรือโกดังสินค้า (warehouse) เป็นสถานที่ใช้ในการวาง รับฝาก จัดเก็บสินค้าเพื่อรอการขนส่ง เช่น สินค้าสำเร็จรูปต่างๆ ที่เกี่ยวกับเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม วัตถุดิบ หรือ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป โดยจะมีระบบการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง จำนวนคงเหลือ และจำแนกหมวดหมู่อย่างชัดเจน

คลังสินค้าเป็นที่ต้องการของผู้ผลิต ผู้นำเข้า ส่งออก ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจด้านการขนส่ง การออกแบบคลังสินค้ามักเป็นอาคารแบบชั้นเดียว มีพื้นที่โล่งกว้าง ในบางแห่งอาจมีระบบควบคุมอุณหภูมิ ระบบป้องกันน้ำท่วม หรือระบบอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเสื่อมสภาพ หรือ เสียหาย และมักออกแบบเป็บทางลาดเอียงไว้สำหรับลำเลียงและขนถ่ายสินค้าขึ้นรถลงรถ

ในปัจจุบันมีคลังสินค้าให้เช่ามากมาย ที่ตั้งส่วนใหญ่มักอยู่ชานเมืองและนอกเมือง เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการจัดเก็บสินค้า บางคลังสินค้าจะตั้งอยู่ติดกับท่าเรือ สนามบิน สถานีรถไฟ หรือ นิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้การเคลื่อนย้ายหรือขนส่งสินค้ามีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น คลังสินค้าส่วนมากมักจัดเก็บสินค้าแบบพาเลทเป็นชั้นๆ เพื่อประหยัดพื้นที่ และใช้รถโฟล์คลิฟในการยก หรือ เคลื่อนย้าย

ความสำคัญของคลังสินค้า

คลังสินค้าถือเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญในระบบโลจิสติกส์อย่างมาก โดยหน้าที่ของคลังสินค้าหรือโกดังเก็บสินค้าหลัก ๆ นั้นจะใช้เพื่อการจัดเก็บวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป สินค้าสำเร็จรูป ชิ้นส่วน และสินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิต หน้าที่ของคลังสินค้ายังรวมถึงการรับสินค้า จัดเก็บสินค้า รวบรวมสินค้า เปลี่ยนถ่ายสินค้า บรรจุสินค้า ส่งสินค้าเข้า-ออก ตลอดจนเป็นจุดรับสินค้าส่งคืน คลังสินค้าบางแห่งยังถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับการติดฉลาก ห่อหุ้มสินค้า หรือใช้สำหรับคัดแยกสินค้าก่อนกระจายไปยังภาคส่วนอื่น ๆ คลังสินค้าจึงมีความสำคัญในการช่วยเก็บรักษาสินค้าให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมส่งมอบไปยังผู้รับ เช่น ลูกค้า องค์กร บุคคล ภาคส่วน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่าคลังสินค้านั้นเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนด้านการผลิต การจำหน่าย การกระจายสินค้า และการขนส่งอย่างแท้จริง

ประเภทของคลังสินค้า

คลังสินค้าที่แบ่งตามลักษณะธุรกิจ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ คลังสาธารณะ และ คลังส่วนตัว
1.คลังสินค้าสาธารณะ (Public warehouse)
คลังสินค้าประเภทนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ซึ่งเป็นคลังสินค้าที่ให้บริการจัดเก็บสินค้าโดยการเก็บค่าเช่า แบ่งพื้นที่ให้ลูกค้าจากหลายๆ บริษัทมาเช่าพื้นที่สำหรับเก็บสินค้าได้ตามความต้องการ และเป็นการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการจัดเก็บสินค้า คลังสินค้าประเภทนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ทำธุรกิจเพราะไม่จำเป็นต้องทำคลังสินค้าด้วยตัวเอง

2.คลังส่วนตัว (Private warehouse)
คลังสินค้าประเภทนี้เป็นคลังทั่วไปของบริษัทแต่ละแห่ง ซึ่งได้สร้างพื้นที่ส่วนตัวในการจัดเก็บสินค้า ทำให้สามารถจัดเก็บสินค้าได้ตามความต้องการ การทำคลังประเภทนี้อาจใช้เงินทุนค่อนข้างมาก แต่มีความคุ้มค่าในระยะยาว อีกทั้งยังสามารถจัดการสินค้าในคลังได้ง่าย ทำให้ทราบสถานะในคลังสินค้าได้ตลอดเวลา คลังสินค้าส่วนตัวอาจอยู่ติดกับส่วนที่ผลิตสินค้าในโรงงานของผู้ผลิตโดยตรง

คลังสินค้าที่แบ่งตามลักษณะงาน หรือ แบ่งตามลักษณะสินค้าที่เก็บรักษา
คลังสินค้าประเภทนี้มีหน้าที่ในการเก็บรักษาสินค้าในรูปของวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูป เน้นในการรักษาสภาพสินค้าและป้องกันการสูญหายของสินค้า แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้า และ ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า

1.ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution center, DC)
เป็นคลังสินค้าที่เชื่อมระหว่างผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก ให้บริการในการจัดเก็บสินค้าและจัดการขนส่งสินค้าให้กับลูกค้า ศูนย์กระจายสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นผู้ให้บริการภายนอก (Outsource) หรือ Third party Logistics Providers (3PL) จะทำหน้าที่รับสินค้าจากผู้ผลิตแต่ละรายมาเก็บไว้ในคลังสินค้า ดำเนินการจัดการควบคุมปริมาณการกระจายสินค้าและจัดส่งแทนเจ้าของสินค้าหรือผู้ผลิต ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งของผู้ผลิตไปสู่ผู้ค้าปลีกหรือลูกค้าเพราะผู้ผลิตสามารถขนส่งมาที่ศูนย์กระจายสินค้าเพียงที่เดียว และสามารถกระจายสินค้าไปได้หลายที่ตามความต้องการโดยไม่จำเป็นต้องมีคลังเก็บสินค้า ทำให้มีความได้เปรียบในด้านราคาและรวดเร็วในการบริการ

2.ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า (Cross dock)
เป็นคลังในการรับและส่งสินค้าในเวลาเดียวกัน มีการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อใช้ในการขนสินค้าจากพาหนะหนึ่งไปสู่อีกพาหนะหนึ่ง Cross dock จะทำหน้าที่บรรจุและคัดแยกสินค้า และจะทำหน้าที่เป็นเหมือนสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างรูปแบบการขนส่ง เพื่อจัดส่งให้ลูกค้าแต่ละราย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ค้าปลีกที่มีความต้องการสินค้าย่อยที่หลากหลาย
ลักษณะของศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า (Cross dock) จะมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งใช้สำหรับรับสินค้า และอีกด้านใช้ในการจัดส่งสินค้า โดยปกติจะนำสินค้าเข้ามาเก็บและทำการจัดส่งภายใน 24 ชั่วโมง
ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าจะกระจายอยู่ตามภาคและจังหวัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการขนส่ง โดยสามารถเชื่อมโยงการขนส่งในรูปแบบต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางรถไฟ ทางรถ ท่าน้ำ และทางอากาศ

คลังสินค้าที่แบ่งตามประเภทลักษณะของสินค้า แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ คลังสินค้าทั่วไป คลังสินค้าของสด คลังสินค้าอันตราย และคลังสินค้าพิเศษ

1.คลังสินค้าทั่วไป
เป็นคลังสินค้าที่จัดเก็บสินค้าที่ไม่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ทั่วไป

2.คลังสินค้าของสด
เป็นคลังสินค้าที่ใช้จัดเก็บของสด เช่น อาหาร ผัก ผลไม้ และเครื่องดื่ม มักเป็นสินค้าที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษด้วยการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อคงสภาพความสดใหม่ของสินค้า

3.คลังสินค้าอันตราย
เป็นคลังสินค้าที่จัดเก็บสินค้าอันตราย เช่น สารพิษ สารเคมี เชื้อเพลิง และวัตถุระเบิด คลังสินค้าประเภทนี้จะต้องมีการแยกประเภทของวัตถุอันตรายและจัดเก็บให้เหมาะสม ดังนั้นคลังสินค้าประเภทนี้จึงต้องมีผู้ควบคุมดูแลระบบบำบัดมลพิษ ซึ่งจะต้องได้รับใบอนุญาตโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม

4.คลังสินค้าพิเศษ
เป็นคลังสินค้าที่จัดเก็บสินค้าที่มีขนาดเล็ก และเพื่อใช้เก็บสินค้าที่มีมูลค่าสูง จึงต้องได้รับการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม เพื่อที่จะยืดอายุคุณภาพของสินค้า เช่น สินค้าเวชภัณฑ์ รวมถึงสารเคมีบางชนิด

คลังสินค้าแบ่งตามลักษณะของคลังสินค้า แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่ คลังแบบปิด และคลังแบบเปิด
1.คลังสินค้าแบบปิด
คลังสินค้าแบบปิดเป็นโกดังสินค้าในร่มที่มีลักษณะคล้ายอาคาร มีผนังครบทั้งสี่ด้านเพื่อปกป้องสินค้าจากตัวแปรต่างๆ ที่อาจทำให้สินค้าเสียหาย เช่น สภาพภูมิอากาศ สัตว์รบกวน เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ประกอบการสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเพื่อการอุปโภคบริโภคทุกชนิด
2.คลังสินค้าแบบเปิด
คลังสินค้าแบบปิดเป็นโกดังสินค้ากลางแจ้งที่มีเพียงเสา รั้ว หรือเครื่องบอกอาณาเขตอื่น ๆ โดยไม่มีตัวอาคาร เหมาะสำหรับสินค้าที่ไม่เสื่อมสภาพเนื่องจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ และสามารถจัดเก็บไว้กลางแจ้งได้ เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นต้น

คลังสินค้าแบ่งตามลักษณะที่ตั้ง แบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่ คลังสินค้ากลาง และ คลังสินค้าส่วนภูมิภาค
1.คลังสินค้ากลาง
คลังสินค้ากลางเป็นคลังสินค้าที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางการผลิตมากที่สุดเพื่อลดต้นทุนในการจัดการและขนส่ง มักตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม เช่น คลังสินค้าให้เช่า อมตะที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เป็นต้น
2.คลังสินค้าส่วนภูมิภาค
คลังสินค้าส่วนภูมิภาคเป็นคลังสินค้าที่ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์กลางการบริโภคมากที่สุด ตัวอย่างเช่น หากคุณเป็นผู้ค้าส่งและจัดจำหน่ายสินค้าให้กับธุรกิจทั่วภาคเหนือ ผู้ประกอบการก็อาจพิจารณาเช่าคลังสินค้าที่ตั้งอยู่ในจังหวัดลำพูน ลำปาง หรือเชียงใหม่ เป็นต้น

คลังสินค้าแบ่งตามลักษณะทางกายภาพ (Physical) ได้เป็น

1.คลังสินค้าที่มิดชิด มีกำแพง เพดาน และประตู ได้แก่ คลังสินค้าทั่วไป ซึ่งบางแห่งจะมีการควบคุมอุณหภูมิ หรือ มีการติดตั้งเครื่องทำความเย็น (Frozen Warehouse)
2.คลังสินค้าที่มีแต่หลังคา แต่ไม่มีผนัง ใช้ในการเก็บสินค้าซึ่งไม่เสียหายจากสภาวะอากาศ มักเป็นสินค้าขนาดใหญ่และมีน้ำหนัก ซึ่งโอกาสที่จะเสียหายหรือสูญหายได้ยาก
3.คลังสินค้ากลางแจ้ง พื้นต้องเป็นคอนกรีต มีการยกพื้น มีระบบป้องกันน้ำท่วม ไม่มีหลังคา หรือสิ่งก่อสร้าง หากไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวก็ไม่ถือเป็นคลังสินค้ากลางแจ้งแต่อาจเป็นลานวางสินค้าทั่วไป คลังสินค้ากลางแจ้ง อาจได้แก่ ลานที่ใช้ในการเรียงกองตู้คอนเทนเนอร์ เช่น ตาม ICD หรือ ท่าเรือ หรือ สนามบิน นอกจากนี้ยังได้แก่ คลังสินค้ากลางแจ้ง ใช้เก็บสินค้าที่มีขนาดใหญ่ หรือสินค้า เทกอง หรือพืชไร่ แร่ธาตุต่างๆ
4.คลังสินค้าที่เป็นถัง (Tank) หรือ สิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่สินค้านำเข้าหรือเอาออก โดยวิธีดูดผ่านท่อ (Pipe) เช่น คลังเก็บน้ำมัน เก็บเคมี หรือ Silo เก็บอาหารสัตว์ , สินค้าการเกษตรต่างๆ
5.คลังสินค้าเคลื่อนที่ได้ ได้แก่ ระวาง (Deck) ของเรือสินค้า เครื่องบิน โบกี้เก็บสินค้าของรถไฟ หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าที่ใช้เป็นสถานที่เก็บสินค้าเพื่อรอการส่งมอบ
6.คลังเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ (Data Bank) เช่น Server ที่ใช้เก็บข้อมูล ซึ่งปัจจุบันถือเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถส่งมอบให้ผู้ที่ต้องการ โดยวิธีดาวน์โหลด ผ่านเครือข่าย Network เช่น Web site เป็นต้น

คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse)

โกดังสินค้าแบบนี้มีไว้สำหรับสินค้านำเข้าที่ต้องรอการตรวจสอบจากศุลกากรนั่นเอง เพราะฉะนั้น คลังสินค้าประเภทนี้ก็จะมีการดูแลจัดการโดยรัฐบาลโดยตรงสำหรับการชำระภาษีของสินค้านำเข้านั้นๆ ก่อนที่บริษัทจะสามารถดำเนินการเรื่องการขนส่งไปยังสถานที่ต่อไปได้ ทำให้ส่วนใหญ่แล้วคลังสินค้าทัณฑ์บนมักจะตั้งอยู่ตามท่าเรือหรือสนามบินเพื่อรอการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและศุลกากรให้เรียบร้อยเสียก่อน

การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management)

การจัดการสินค้าคงคลัง ได้แก่ รายการสินค้าสำเร็จรูป , สินค้าระหว่างการผลิต , วัตถุดิบ , วัสดุสิ้นเปลือง , ทรัพย์สินสิ่งของ ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีลักษณะที่เป็นของที่สามารถโยกย้ายได้ที่เรียกว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นของที่มีมูลค่าอันอาจถือกรรมสิทธิถือครองและเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของได้ โดยสินค้าจะต้องคู่กับคลังสินค้าและเป็นส่วนสำคัญที่สุดของระบบ Supply Chain Management (SCM) เพราะพันธกิจหลักของ SCM คือ การเคลื่อนย้ายส่งมอบสินค้าและต้องเป็นสินค้าที่จับต้องได้ (Physical Goods) ซึ่งสินค้าที่เป็นอิเล็กโทรนิกส์ ก็จะต้องมีการเคลื่อนย้ายผ่าน Media ไม่ว่าจะเป็น Disc , Server หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับบริการจะเป็นส่วนควบที่คิดไปกับตัวสินค้า วัตถุประสงค์หลักของในการจัดการ Logistics คือ การสร้างความพึงพอใจต่อลูกค้า ที่เรียกว่า Efficient Consumers Response หรือ ECR โดยมีต้นทุนในการดำเนินงานในระดับ Economy Scale การที่เรากำหนดระดับสินค้าคงคลังในระดับที่มากจนเกินพอดี อาจดูปลอดภัยแต่ก็จะส่งผลให้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูงเช่นกัน จึงต้องมีการจัดการสินค้าคงคลังให้เหมาะสม