ขนส่งทางเครื่องบิน

การบริการ

เราสามารถจัดหาได้ทั้งไฟลท์แบบบินตรงและทรานสิท รวมถึงการจัดส่งแบบ door to door เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

ขอใบเสนอราคา ขนส่งทางเครื่องบิน

ลูกค้าสามารถสอบถามบริการ และขอใบเสนอราคา ทาง Email : sales@lynx.co.th

โดยแจ้งรายละเอียดเบื้องต้นดังนี้

  1. ชื่อบริษัทหรือหน่วยงาน
  2. รายละเอียดสินค้า
    • ชื่อสินค้า
    • ขนาด ( กว้าง x ยาว x สูง )
    • ปริมาณ
    • น้ำหนัก
    • รูปสินค้า
  3. ที่อยู่รับ-ส่งสินค้า
  4. ท่าอากาศยาน ต้นทาง-ปลายทาง
  5. เงื่อนไขการส่งมอบ INCOTERM

สอบถามเพิ่มเติม โทร 02-259-2899  
เวลาทำการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8:30 – 17:30 น.

 


เครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งสินค้าทางอากาศ

สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. เครื่องบินโดยสาร (Passenger Flight)

ประกอบด้วยที่นั่งสำหรับผู้โดยสารทั้งหมด (Main deck + Upper deck) สามารถบรรทุกสินค้าได้เฉพาะด้านล่างและด้านท้ายของเครื่องบินเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสัมภาระของผู้โดยสาร

2. เครื่องบินกึ่งโดยสาร (Combi Flight or Combination of Passenger & Main deck loader)

ประกอบด้วย ที่นั่งสำหรับผู้โดยสารด้านบน และพื้นที่ที่เหลือสามารถบรรทุกสินค้าได้ทั้งหมด เครื่องบินประเภทนี้จะให้บริการการขนส่งสินค้าควบคู่ไปกับการขนส่งผู้โดยสาร โดยจะมีระวางบรรทุกสินค้าไว้ตรงบริเวณท้องเครื่องบิน ในปัจจุบันการให้บริการขนส่งสินค้าลักษณะดังกล่าวนับเป็นแหล่งรายได้เสริมที่สำคัญของสายการบินโดยสารหลายแห่ง สายการบินที่ให้บริการแบบผสมผสานจึงเรียกว่า Combined Carriers

3. เครื่องบินบรรทุกสินค้า (Charter Flight, Cargo Flight, Freighter)

เป็นเครื่องบินสำหรับบรรทุกสินค้าทั้งหมด ไม่มีส่วนของที่นั่งผู้โดยสาร การบริการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ หรือ All-Cargo-Air-Lines ซึ่งเป็นการขนส่งเฉพาะสินค้าไม่มีการขนส่งผู้โดยสาร จึงเรียกว่า Freighters ในปัจจุบันทั่วโลกมีสายการบินรายใหญ่ๆ ที่ให้บริการในลักษณะนี้และเป็นสมาชิกของสมาคมการขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศไม่ถึง 40 ราย

 

 


 

10 ประเภทสินค้าพิเศษ (SPECIAL CARGO) เมื่อขนส่งทางเครื่องบิน

 

 

สินค้าพิเศษเป็นสินค้าที่ต้องให้การดูแลเอาใจใส่และควบคุมเป็นพิเศษตามประเภทและคุณลักษณะของสินค้าแต่ละชนิด มิฉะนั้นสินค้าอาจจะสูญหาย หรือเสื่อมสภาพในระหว่างการขนส่งได้ 10 สินค้าพิเศษที่ต้องระมัดระวังเมื่อขนส่งทางเครื่องบิน มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย

1. Fragile Cargo (FRA) สินค้าที่แตกหักง่าย

สินค้าแตกหักง่าย หมายถึง สินค้าที่มีลักษณะบอบบาง เปราะ หรือแตกหักเสียหายง่าย หากเกิดการกระทบ ได้แก่ เครื่องแก้ว เครื่องป้ันดินเผา เครื่องลายคราม เป็นต้น การขนส่งต้องบรรจุ ในหีบห่อที่แข็งแรง เช่น ลังไม้ และควรเป็นหีบห่อใหม่หากเคยใช้แล้วต้องอยู่ในสภาพดีที่แข็งแรง ภายในวัสดุกันสะเทือนอย่างเหมาะสม ภาชนะ บรรจุ ของเหลวที่ทำจากวัสดุแตกหักง่าย เช่น แก้ว จะต้องใช้วัสดุกันกระแทก ที่สามารถดูดซับของเหลวได้หมด และจะต้องติดป้าย “ของแตกหักง่าย”และป้าย “ตั้งตามลูกศร”

2. Heavy Cargo (HEA) สินค้าที่มีน้ำหนักมากและสินค้าที่มีขนาดใหญ่

สินค้าหนัก หมายถึง สินค้าที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 150 กิโลกรัมขึ้นไปต่อหนึ่งหีบ

3. Human Remains (HUM) ศพมนุษย์

การรับขนส่งศพมนุษย์จะต้องมีเอกสาร “ใบมรณะบัตร” ประกอบการขนส่งศพจะต้องบรรจุอยู่ในโลงที่แข็งแรงและมีที่จับยึดภายนอกคลุมด้วยผ้าใบ ส่วนอัฐิจะต้องใส่ในภาชนะบรรจุที่ไม่แตกง่ายมีวัตถุกันกระแทกและจะต้องมีเอกสาร “ใบฌาปนกิจ”แนบมาด้วย

4. Live Animals (AVI) สิ่งมีชีวิต

การรับส่งสัตว์มีชีวิตจะต้องเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการขนส่งสัตว์มีชีวิตภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

– สุขภาพของสัตว์จะต้องไม่ป่วยหรือป่วยหรือเป็นโรค ต้องได้รับการดูแลระหว่างการขนส่งเป็นอย่างดีและห้ามรับขนส่งสัตว์ที่กำลังท้องแก่

– กรงที่ใช้ขนส่งสัตว์ต้องเหมาะสมกับชนิดของสัตว์นั้นๆ ต้องสะอาดและกันน้ำรั่วซึมตลอดจนง่ายต่อการขนถ่ายพร้อมทั้งติดป้าย “สัตว์มีชีวิต”

– อาหารที่นำมาเพื่อเลี้ยงดูสัตว์จะต้องรวมอยู่ในน้ำหนักที่ใช้คิดค่าระวางสินค้า

– การขนส่งสัตว์มีชีวิตจะต้องมีการสำรองระวางบรรทุกไว้ล่วงหน้า ตลอดเส้นทางบิน

– สัตว์มีชีวิตจะนำมารวมกับสินค้าอื่น ๆ ภายใต้ใบตราส่งสินค้าชุดเดียวกันไม่ได้

5. Magnetized Materials (MAG) วัตถุที่มีลักษณะเป็นแม่เหล็ก

สินค้าแม่เหล็ก หมายถึง สินค้าที่คุณสมบัติสามารถเกิดสนามแม่เหล็กซึ่งมีผลต่อระบบนำร่องของเครื่องบิน เช่น เข็มทิศ เรดาร์ โดยหีบห่อของสินค้าแม่เหล็กจะต้องติดป้าย “สินค้าแม่เหล็ก” ด้วย

6. Outsized Cargo (BIG) สินค้าที่มีขนาดใหญ่มาก

สินค้าขนาดใหญ่ หมายถึง สินค้าที่มีขนาด กว้าง หรือยาวเกินขนาดของแผ่นบรรทุกสินค้า 88″x125″,96×125″ หรือมีขนาดที่ยากต่อการจัดบรรทุกในเครื่องบิน แบบลำตัวแคบ สินค้าน้ำหนักมากและสินค้าขนาดใหญ่จะต้องได้รับการยืนยันการทำสำรองระวางบรรทุกก่อนการรับขนส่งทุกครั้ง

7. Perishable Cargo (PER) สินค้าของสดหรือเสียง่าย

สินค้าของสดเสียง่าย หมายถึง สินค้าที่ง่ายต่อการเน่าเปื่อยหรือบูดเน่าได้ง่าย เช่นผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ ปลาสด พืช ผักและผลไม้ เป็นต้น การรับขนส่งสินค้าประเภทนี้จะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าและมีทำสำรองระวางบรรทุกตลอดเส้นทางบินแต่ละหีบห่อของสินค้าของสดเสียง่ายจะต้องติดป้าย “ของสดเสียง่าย”และป้าย “ตั้งตามลูกศร”

8. Valuable Cargo (VAL) สินค้าของมีค่า

สินค้ามีค่า หมายถึง สินค้าดังต่อไปนี้

– สินค้าที่มีการประเมินราคาเพื่อการขนส่งเกิน 1000 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักรวม 1กิโลกรัม

– ทองคำหรือทองคำขาว ทั้งที่หลอมแล้วหรือยังไม่ได้หลอมในรูปแบบต่างๆ

– ธนบัตร ตั๋วเงิน เช็คเดินทาง ใบหุ้น ใบกู้ดวงตราไปรษณีย์และบัตรเครดิต

– อัญมณีมีค่า ได้แก่เพชร ทับทิม มรกต พลอยไพลิน มุกดาไข่มุกและไข่มุกเลี้ยง

– เครื่องประดับที่ทำด้วยอัญมณีมีค่า

การรับสินค้ามีค่าต้องมีการควบคุมดูแลการขนส่งอย่างรัดกุมปลอดภัยในทุกขั้นตอนและต้องมีการทำสำรองระวางบรรทุกตลอดเส้นทางบินไม่ควรมีจุดเปลี่ยนเครื่องหรือถ้ามีก็ให้น้อยที่สุดและหีบห่อของสินค้ามีค่าต้องมั่นคงแข็งแรง

9. Vulnerable Cargo (VUN) สินค้าที่เสี่ยงต่อการสูญหาย

สินค้าที่เสี่ยงต่อการสูญหาย หมายถึง สินค้าที่ไม่เข้าข่ายสินค้ามีค่า แต่มีลักษณะและขนาดที่เอื้ออำนวยหรือมีราคาจูงใจให้เกิดการลักขโมยหยิบ ฉวยได้ง่าย ได้แก่ กล้องถ่ายรูป นาฬิกาข้อมือ เครื่องคิดเลข เป็นต้น

10. Wet Cargo (WET) สินค้าที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ

สินค้าที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบต้องมีการบรรจุหีบห่อและการจัดบรรทุกอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมออกมาทำให้สินค้าอื่นเสียหาย หรือกัดกร่อนอุปกรณ์บรรทุกสินค้าและห้องบรรทุกสินค้าภายในท้องเครื่องบินให้เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะสินค้าที่มีองค์ประกอบของน้ำเค็ม หรือเป็นน้ำที่ออกมาจากสินค้าประเภทอาหารทะเล หีบห่อของสินค้าประเภทนี้จึงต้องกันน้ำรั่วซึมได้อย่างดีซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กล่องโฟม

11. Dangerous Goods (DG) สินค้าอันตราย

สินค้าที่เสี่ยงจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม ถ้าหากมีการขนส่งสินค้าที่จัดเป็นสินค้าอันตรายจะต้องมีการติดฉลากแจ้งไว้ให้ชัดเจน ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 ประเภทโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งสินค้าอันตรายของสหประชาชาติ (Committee of Experts on the Transport of Dangerous Goods) ดังนี้

ประเภทที่ 1 วัตถุระเบิด (Explosives) หมายถึง วัตถุที่สามารถระเบิดได้ เมื่อได้รับความร้อน ประกายไฟ เปลวไฟ หรือเมื่อเกิดการเสียดสี กระทบกระเทือน หรือถูกกระทำโดยตัวจุดระเบิด

ประเภทที่ 2 ก๊าซ หมายถึง สารที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส มีความดันไอมากกว่า 300 กิโลปาสกาล หรือมีสภาพเป็นก๊าซอย่างสมบูรณ์ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส และมีความดัน 101.3 กิโลปาสกาล ได้แก่ ก๊าซอัด ก๊าซพิษ ก๊าซในสภาพของเหลว ก๊าซในสภาพของเหลวอุณหภูมิต่ำ และรวมถึงก๊าซที่ละลายในสารละลายภายใต้ความดัน เมื่อเกิดการรั่วไหลสามารถก่อให้เกิดอันตรายจากการลุกติดไฟ และ/หรือเป็นพิษ และแทนที่ออกซิเจนในอากาศ

ประเภทที่ 3 ของเหลวไวไฟ หมายถึง ของเหลว หรือของเหลวผสมที่มีจุดวาบไฟ (Flash Point) ไม่เกิน 60.5 องศาเซลเซียสจากการทดสอบด้วยวิธีถ้วยปิด (Closed-cup Test) หรือไม่เกิน 65.6 องศาเซลเซียสจากการทดสอบด้วยวิธีถ้วยเปิด (Opened-cup Test) ไอของเหลวไวไฟพร้อมลุกติดไฟเมื่อมีแหล่งประกายไฟ ตัวอย่างเช่น อะซีโตน น้ำมันเชื้อเพลิง ทินเนอร์ เป็นต้น ของเหลวเหล่านี้จะให้ไอระเหยที่ไวไฟสามารถติดไฟได้ที่อุณหภูมิ 61 องศาเซลเซียส (141° F ) c.c.* หรือที่อุณหภูมิต่ำกว่า

ประเภทที่ 4 ของแข็งไวไฟ สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง และสารที่สัมผัสกับน้ำแล้วทำให้เกิดก๊าซไวไฟ (Flammable Solids, Substances Liable to spontaneous combustion, Substances whice in contact with water emit flammable gases) วัตถุที่จัดไว้ในประเภทนี้ เป็นวัตถุที่เป็นอันตราย อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอัคคีภัยได้

ประเภทที่ 5 วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุอินทรีย์เปอร์ออกไซด์ แยกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ

1. วัตถุออกซิไดซ์ (Oxidizing substances) หมายถึงวัตถุที่สามารถให้ออกซิเจนออกมาโดยที่วัตถุนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดการ เผาไหม้หรือเป็นวัตถุที่ทำให้เกิดขบวนการ oxidationในลักษณะที่คล้ายกันทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ต่อวัตถุ อื่นที่วางไว้ใกล้เคียง และมีความรุนแรงยิ่งขึ้น

2. วัตถุอินทรีย์เปอร์ออกไซด์ (Organic peroxides) เป็นวัตถุอินทรีย์ที่มีโครงสร้างออกซิเจน 2 ตัว และอาจถือได้ว่าเป็นอนุพันธ์ของ Hydrogen peroxide ซึ่งอะตอมของ Hydrogen 1 หรือทั้ง 2 อะตอม ถูกแทนที่ด้วย อนุมูลของสารอินทรีย์ วัตถุนี้ไม่เสถียรสามารถสลายตัวให้ความร้อนรวดเร็วได้ด้วยตัวเอง

ประเภทที่ 6 วัตถุมีพิษและวัตถุติดเชื้อ แยกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ

1. วัตถุมีพิษ (Toxic Sustances) วัตถุเหล่านี้อาจทำให้เสียชีวิตหรือทำให้เกิดการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงเมื่อ เข้าสู่ร่างกายโดยสัมผัสกับผิวหนัง หรือหายใจ หรือกลืนกินเข้าไป วัตถุมีพิษเกือบทุกชนิดจะให้ก๊าซพิษ เมื่อถูกเผาไหม้หรือได้รับความร้อนก็เกิดการสลายตัวและบางชนิดนั้นนอกจากจะ มีพิษแล้ว ยังมีคุณสมบัติ ที่เป็นอันตรายอื่นๆอีกด้วย ตัวอย่าง Arsenic, Arsenic trioxide, Arsenic trichloride, Arsenic tribromide, Barium cyanide, Chloronitrobenzene, Potassium cyanide, Dichloromethane, Barium chloride, Copper cyanide, Sodium cyanide, Sodiumsilicofluoride, Aniline.

2. วัตถุติดเชื้อ (Infectious Substances ) เป็นวัตถุที่มีเชื้อจุลินทรีย์ (Micro organism) อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์และสัตว์ โดยมีข้อสังเกต 2 ประการคือ

ประการ ที่ 1 จุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมแล้วไม่เป็นไปตามคำ จำกัดความของวัตถุประเภท 2 ควรจะจัดให้อยู่ในประเภทที่ 9.

ประการที่ 2 พิษของจุลินทรีย์ (Toxins) ที่ไม่เป็น หรือมีสารติดเชื้อควรพิจารณาให้อยู่ในประเภท 1 กำหนดตาม UN. 3172 ซึ่งเป็น Toxin ที่สกัดจากสิ่งมีชีวิต

ประเภทที่ 7 วัตถุกัมมันตรังสี หมายถึง วัตถุที่สลายตัวแล้วให้รังสีออกมามากกว่า 0.002 ไมโครคิวรีต่อ น้ำหนักของวัตถุนั้น 1 กรัม หรือ 70 k Bq/kg. รังสีนี้มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าเราสามารถรับรังสีได้ทั้งภายในและภายนอกร่าง กาย เช่น เมื่ออยู่ในบริเวณที่ใกล้วัตถุกัมมันตรังสีและได้สัมผัสกับรังสีที่ออกมา หรือการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนของสารรังสีเข้าไป

ประเภทที่ 8 วัตถุกัดกร่อน หมายถึง ของแข็ง หรือของเหลว ซึ่งโดยปฏิกิริยาเคมีมีฤทธิ์กัดกร่อน ทำความเสียหายต่อเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตอย่างรุนแรง หรือทำลายสินค้า/ยานพาหนะที่ทำการขนส่งเมื่อเกิดการรั่วไหลของสาร ไอระเหย ของสารประเภทนี้บางชนิดก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูกและตา ตัวอย่างเช่นกรดเกลือ กรดกำมะถัน โซเดียมไฮดรอกไซด์ เป็นต้น

ประเภทที่ 9 วัสดุอันตรายเบ็ดเตล็ด หมายถึง วัตถุและสิ่งของที่มีความเป็นอันตราย ซึ่งไม่จัดอยู่ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 8 และให้รวมถึงสารที่มีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียสในสภาพของเหลว หรือมีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 240 องศาเซลเซียสในสภาพของแข็ง เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรทชนิด B (UN.2071), Asbestos, Zinc hydrosulfite, PBC เป็นต้น

 

ทั้งนี้สินค้าที่ส่งออกส่งทางอากาศจะต้องมีหีบห่อที่แข็งแรงทนต่อสภาพการขนส่ง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของ กล่องกระดาษ กระเป๋าเดินทาง ซอง ถุง กระสอบ กรง หรือลัง เป็นต้น

#logistics #lynxgistics #export #freightforwarder #aircargo #specialcargo #airfreight

แหล่งอ้างอิง

http://www.research-system.siam.edu/images/coop/Customs_Import_Procedures_and_Cargo_Delivery/06_ch4.pdf

https://elcls.ssru.ac.th/ananya_ba/pluginfile.php/112/mod_resource/content/1/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%203-6.pdf