มาตรฐานบรรจุภัณฑ์

มาตรฐานบรรจุภัณฑ์ หรือ UN mark คือระบบสากลที่ถูกสร้างขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ มีเพื่อจำแนกบรรจุภัณฑ์ที่สามารถบรรจุวัตถุอันตรายที่เป็นของเหลวและของแข็งเพื่อให้การขนส่งทางอากาศ ถนน และทางทะเลได้อย่างปลอดภัย องค์การสหประชาชาติได้ออกข้อกำหนดสำหรับการทดสอบและรับรองบรรจุภัณฑ์วัตถุอันตราย โดยข้อกำหนดดังกล่าวใช้กับบรรจุภัณฑ์ประเภทหีบห่อ (Packaging) บรรจุภัณฑ์ IBCs และแทงค์ที่ยกและเคลื่อนย้ายได้ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานจะต้องแสดงสัญลักษณ์ รหัส ตัวอักษรแสดงกลุ่มการบรรจุ วันเดือนปีที่ผลิต รหัสชื่อผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ผลการทดสอบปริมาณสูงสุดที่บรรจุได้ รหัสประเทศและหน่วยงานที่รับรองบรรจุภัณฑ์

UN Mark ไม่สามารถนำไปใช้ขนส่งในภาคการขนส่งที่ต่างกันได้ เช่น บรรจุภัณฑ์ของวัตถุอันตรายที่ใช้ขนส่งทางทะเลก็เป็นหน้าที่รับผิดชอบของกรมเจ้าท่าในการรับรอง แต่ไม่สามารถนำบรรจุภัณฑ์นี้มาใช้ในการขนส่งทางอากาศได้ เพราะกฎหมายไม่ให้อำนาจรับรองบรรจุภัณฑ์สำหรับการขนส่งทางอากาศ

MSDS

MSDS ย่อมาจาก Material Safety Data Sheets หมายถึงเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงข้อมูลของสารเคมีหรือเคมีภัณฑ์เกี่ยวกับลักษณะความเป็นอันตราย พิษ วิธีใช้ การเก็บรักษา การขนส่ง การกำจัดและการจัดการอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับสารเคมีนั้นเป็นไปอย่างถูกต้องและปลอดภัย

ในปัจจุบันตามประกาศของสหประชาชาติ เรื่อง ระบบการจำแนกและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (The Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals, GHS) กำหนดให้ใช้ SDS เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสื่อสารข้อมูลสารเคมีนอกเหนือจากบนฉลาก และเพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเป็นระบบเดียวกัน จึงกำหนดให้เรียกว่า Safety Data Sheet (SDS) พร้อมกับได้กำหนดรูปแบบและข้อมูลใน SDS ไว้ 16 หัวข้อ โดยมีหัวข้อดังต่อไปนี้

1. ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี และบริษัทผู้ผลิตและหรือจำหน่าย (Identification of the substance/preparation and of the Company/undertake)

2. ข้อมูลระบุความเป็นอันตราย (Hazards Identification)

3. องค์ประกอบและข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสม (Composition/Information on Ingredients)มาตรการปฐมพยาบาล (First Aid Measures)

4. มาตรการปฐมพยาบาล (First Aid Measures)

5. มาตรการผจญเพลิง (Fire Fighting Measures)

6. มาตรการจัดการเมื่อมีการหกรั่วไหลของสารโดยอุบัติเหตุ (Accidental Release Measures)

7. ข้อปฏิบัติในการใช้และการเก็บรักษา (Handling and Storage)

8. การควบคุมการรับสัมผัสและการป้องกันภัยส่วนบุคคล (Exposure Controls/Personal Protection)

9. คุณสมบัติทางเคมีและกายภาพ (Physical and Chemical Properties)

10. ความเสถียรและความไวต่อการเกิดปฏิกิริยา (Stability and Reactivity)

11. ข้อมูลด้านพิษวิทยา (Toxicological Information)

12. ข้อมูลผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ (Ecological Information)

13. มาตรการการกำจัด (Disposal Considerations)

14. ข้อมูลสำหรับการขนส่ง (Transport Information)

15. ข้อมูลเกี่ยวกับกฎข้อบังคับ (Regulatory Information)

16. ข้อมูลอื่น (Other Information)

 

ดังนั้นแล้ว MSDS จึงเป็นเอกสารที่บ่งบอกรายละเอียดที่ควรรู้ของสารเคมีทุกประเภท ซึ่งจะช่วยทำให้เราได้รับความปลอดภัยในการทำงานกับสารเคมีได้ เพราะในเอกสารดังกล่าวนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในการขนส่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนในการนำอุปกรณ์สารเคมีมาส่งต่อบริษัท จึงถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างมาก และเพราะแบบนั้นจึงทำให้ในขั้นตอนการขนส่งเป็นขั้นตอนที่ควรได้รับความปลอดภัยอย่างยิ่ง

อ้างอิง

http://www.dg-net.org/upload/attach/safety_data_sheet.pdf

http://www.chemtrack.org/board-detail.asp?tid=0&id=258

http://www.chemtrack.org/Board-Detail.asp?TID=0&ID=4458

อนุสัญญาไซเตส

อนุสัญญาไซเตสเป็นอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ( The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora ) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อนุสัญญาวอชิงตัน ( Washington Convention ) เป็นสนธิสัญญาซึ่งเริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518

ปัจจุบันไซเตสมีภาคีทั้งสิ้น 184 สมาชิก ประกอบด้วย 183ประเทศและหนึ่งสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 80 โดยลงนามรับรองอนุสัญญาในปีพ.ศ. 2518 และให้สัตยาบันในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2526

เป้าหมายของไซเตส

เป้าหมายของไซเตส คือ การอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือถูกคุกคาม ทำให้ปริมาณร่อยหรอจนอาจเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ วิธีการอนุรักษ์กระทำโดยการสร้างเครือข่ายทั่วโลกในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ (International Trade) ทั้งสัตว์ป่า พืชป่าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งไซเตสไม่ควบคุมการค้าภายในประเทศสำหรับชนิดพันธุ์ท้องถิ่น (Native Species)

ระบบการควบคุมของ CITES

การค้าสัตว์ป่า พืชป่าและผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศจะถูกควบคุมโดยระบบใบอนุญาต ( Permit ) และหนังสือรับรอง (Certificate) ในการเข้า ( Import )  ส่งออก ( Export )  นำผ่าน ( Transit ) ส่งกลับออกไป ( Re-export )

ชนิดพันธุ์ในบัญชีอนุรักษ์

การกำหนดรายชื่อชนิดพันธุ์ในบัญชีไซเตสใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ทั้งด้านอนุกรมวิธาน (Taxonomy) และข้อมูลด้านชีววิทยา (Biological Parameter) ได้แก่ ข้อมูลสถานภาพของประชากร (Population Status) แนวโน้มประชากร (Population Trends) การแพร่กระจาย (Distribution) สถานะแหล่งที่อยู่อาศัย (Habitat Availability) แนวโน้มด้านภูมิศาสตร์ (Geographic Trends) และการถูกคุกคาม (Threats) เป็นตัวกำหนด นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ทางการค้าและสถานภาพการทางกฎหมายประกอบในการพิจารณาด้วย  โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

  1. ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ ห้ามค้าโดยเด็ดขาดเนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัยและเพาะพันธุ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกให้ได้ โดยจะต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้นๆด้วย

ตัวอย่างของสัตว์ป่า ที่อยู่ในบัญชีนี้ได้แก่ แพนด้าแดง (Ailurus fulgens) กอริลลา (Gorilla gorilla) ชิมแปนซี (Pan spp.) เสือ (Panthera tigris subspecies) สิงโตอินเดีย (Panthera leo persica) เสือดาว (Panthera pardus) เสือจากัวร์ (Panthera onca) เสือชีตาห์ (Acinonyx jubatus) ช้างเอเชีย (Elephas maximus) ช้างแอฟริกา (Loxodonta africana) ปลาตะพัด (Scleropages formosus) ปลายี่สก (Probarbus jullieni) เป็นต้น

ตัวอย่างของพืชป่า ที่อยู่ในบัญชีนี้ได้แก่ เอื้องปากนกแก้ว (Dendrobium cruentum)

  1. ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 2 เป็นชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออกและรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้งจะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นๆในธรรมชาติ

ตัวอย่างของสัตว์ป่า ที่อยู่ในบัญชีนี้ได้แก่ ซาวันน่ามอนิเตอร์ (Varanus exanthematicus) ปลาฉลามขาว (Carcharadon carcharias) หมีดำ (Ursus americanus) ม้าลายภูเขาฮาร์นมันน์ (Equus hartmannae) นกแก้วจักจั่น (Psittacus erithacus) อีกัวนาเขียว (Iguana iguana) หอยสังข์ราชินี (Strombus gigas) ปลาฉลามปากเป็ดมิสซิสซิปปี (Polyodon spathula) เป็นต้น

ตัวอย่างของพืชป่า ที่อยู่ในบัญชีนี้ได้แก่ แก้วเจ้าจอม (Guaiacum officinale) พะยูง (Dalbergia cochinchinensis)

  1. ชนิดพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 3 เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งแล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีให้ช่วยดูแลการนำเข้า นั่นคือจะต้องมีหนังสือรับรองการส่งออกจากประเทศถิ่นกำเนิด

ตัวอย่างของสัตว์ป่า ที่อยู่ในบัญชีนี้ได้แก่ สลอธ 2 นิ้ว (Choloepus hoffmanni) ชะมดแอฟริกา (Civettictis civetta) เต่าอัลลิเกเตอร์ (Macrochelys temminckii)

ตัวอย่างของพืชป่า ที่อยู่ในบัญชีนี้ได้แก่ เมื่อยขาว (Gnetum montanum Markgr.)

ที่มา:

  1. เว็บไซต์ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้(www.fio.co.th)
  2. เว็บไซต์International Fund for Animal Welfare (www.ifaw.org)